เกี่ยวกับเรา

ประวัติความเป็นมาของสุเหร่าสามวา

ชุมชนมุสลิมทุกแห่ง จะมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชน สำหรับชาวมุสลิมที่เรียกว่า “แขกตำพรื้อ” ริมคลองสามวา ก็เช่นเดียวกัน พวกเขาได้ร่วมกันสร้างศาสนสถานเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ ในยุคสมัยนั้นเรียกว่า “สุเหร่า”

สุเหร่าหลังแรก ได้สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2420 มีนายฮัจยีบากา เป็นอิหม่าม อาคารที่สร้างขึ้นเป็นอาคารไม้สักทรงไทย กว้าง 8 วา ยาว 8 วา อาคารสุเหร่าหลังที่ 2 ก่อสร้างเป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยาใต้ถุนสูง ยาว 13 วา 2 ศอก กว้าง 8 วา ก่อสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2480

ในปี พ.ศ. 2490 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามขึ้นเป็นครั้งแรก กำหนดให้มีการจดทะเบียนมัสยิดเป็นนิติบุคคล

สุเหร่าสามวา ได้จดทะเบียนเป็นมัสยิดชื่อ “มัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์” เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2492 ได้ทะเบียนมัสยิดเลขที่ 12 ของจังหวัดพระนคร

สำหรับอาคารมัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ หลังปัจจุบัน เป็นอาคารหลังที่ 3 ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2559 เป็นอาคารคอนกรึตเสริมเหล็กสองชั้นครึ่ง มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 2,500 ตารางเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเป็นเงินรวมประมาณ 60 ล้านบาท

ตลอดระยะเวลา 145 ปี ของสุเหร่าสามวา หรือ มัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร มีอิหม่ามหรือผู้นำชุมชนมุสลิม จำนวน 6 ท่าน คือ

1.       อิหม่ามนายฮัจย์บากา ประมาณปี (พ.ศ. 2420-2435)

2.       อิหม่ามนายฮัจยีโก๊ะ ประมาณปี (พ.ศ.2435-2445)

3.       อิหม่ามฮัจยีเราะห์มาน  หวังโซ๊ะ ประมาณปี (พ.ศ.2445 - 2475)

4.       อิหม่ามฮัจยีสะเมาะฮ์  กองเป็ง ประมาณปี (พ.ศ.2475 - 2492)

5.       อิหม่ามฮัจยีมุสตอฟา  หนุ่มสุข (พ.ศ. 2493 - 2548)

6.       อิหม่าม ผศ.ดร.อับดุลเลาะ  หนุ่มสุข (6 สิงหาคม 2548 - ปัจจุบัน)

ประวัติมัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ (สามวา)

บรรพบุรุษของมัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ส่วนมากอพยพมาจากรัฐปัตตานีทางภาคใต้ของประเทศไทยมาอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ของเมืองมีนบุรี ได้ช่วยกันถากถางป่าที่รกร้างจนกลายเป็นทุ่งนาจับจองที่ดินทำกิน ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่อยู่ริมสองฝั่งคลองสามวา สำหรับชุมชนสองฝั่งคลองที่มีขนาดสามวา จึงเรียกขานว่า “ คลองสามวา” บ้านสามวาฝั่งตะวันตก และบ้านสามวาฝั่งตะวันออกจนเป็นที่มาของตำบลสามวาตะวันตกและตำบลสามวาตะวันออก ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมต่อระหว่างคลองหกว่ากับเมืองธัญญบุรีและคลองแสนแสบ อาชีพส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมทำนาปลูกข้าว การไปมาหาสู่กันจะโดยสารทางเรือเป็นหลัก ตั้งแต่เรือพาย เรือแจว จนถึงเรือเครื่อง

สัปปุรุษของมัสยิดฯส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนับถือศาสนาอิสลามจำเป็นต้องมีสถานที่เพื่อใช้ในการดำรงละหมาด ๕ เวลา ละหมาดวันศุกร์ รวมถึงละหมาดวันตรุษอีดิ้ลฟิตรี และวันตรุษอีดิ้ลอัฎฮาพี่น้องมุสลิมจึงได้ร่วมกันหาที่ดินเพื่อสร้างมัสยิดหลังแรกขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๔๒๐ซึ่งเป็นอาคารไม้สักทรงไทย มีความกว้างประมาณ ๘ วา ความยาวประมาณ ๘ วาเพื่อใช้เป็นสถานที่ละหมาดของพี่น้องมุสลิมที่อาศัยอยู่แถบริมสองฝั่งคลองสามวาโดยใช้ชื่อเรียกว่า มัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์

 อนึ่งไม้ที่เป็นส่วนหนึ่งของมัสยิดได้มาจากพี่น้องมุสลิมซึ่งมีพื้นเพเป็นคนบ้านม้าทับช้าง ๓คนพี่น้อง ชื่อโต๊ะนับ โต๊ะด๊อห์ แชลาม โต๊ะอะห์หวังต๊ะ ได้ยกที่ดินของตนเองเพื่อใช้สร้างเป็นบาแลหลังเล็กๆสำหรับทำการละหมาดอยู่ที่ตำบลหนองระแหงซึ่งในสมัยนั้นมีพี่น้องมุสลิมอาศัยอยู่ประมาณ ๕ - ๑๐ หลังคาเรือนต่อมาได้ย้ายกลับไปภูมิลำเนาเดิมคือบ้านม้าทับช้างจึงได้รื้อถอนบาแลดังกล่าวและนำไม้ในส่วนที่เป็นบาแลมาอุทิศ(วากั๊ฟ)ให้กับมัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ (สามวา)เป็นมัสยิดที่อยู่ริมคลองสามวาแต่ดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว [1]

ในส่วนของที่ดินที่ปลูกสร้างมัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ (สามวา) นั้นมีสองสามีภริยาเป็นผู้บริจาคชื่ออัลมัรฮูมะฮ์โต๊ะละมะฮ์ สันประเสริฐ และ อัลมัรฮูมแชหมาด สันประเสริฐ ได้อุทิศ (วากั๊ฟ)

ที่ดินให้สร้างมัสยิด เนื้อที่ดิน ๑ ไร่ ๓ งาน ๙๔ ตารางวา และได้สร้างมัสยิดบนที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่ยังมิได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินให้เป็นชื่อมัสยิดฯต่อมาปรากฏว่าที่ดินได้ถูกเปลี่ยนมือเป็นของสองสามีภริยาชื่อนายไป่ นางทรัพย์ คงสามสี แต่สองสามีภริยา ยินดีที่จะอุทิศที่ดินจำนวน ๑ ไร่ ๓ งาน ๙๔ ตารางวาให้กับมัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ โดยมีเงื่อนไขในการขายที่ดินว่าถ้าบุคคลใดซื้อที่ดินจะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน ๑ไร่ ๓ งาน ๙๔ ตารางวา ให้เป็นชื่อมัสยิดฯต่อมาได้มีอัลมัรฮูมแช ก๊าซ วงศ์สลาม อยู่แถบคลองกุ่มมาซื้อที่ดินดังกล่าวและได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินชื่อมัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ ณ. สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๐๗ โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๗๓๕ เลขที่ดิน ๖๗ ซึ่งภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงเลขโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๒๕๕๐ เลขที่ดิน ๒๑๒ ตำบลสามวาตะวันตกอำเภอคลองสามวา กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ดินจำนวน ๑ ไร่ ๓ งาน ๙๔ ตารางวา และมีผู้ใจบุญอีก ๑ คน ชื่อนางบุญเรือน เกิดผล ซึ่งมีเนื้อที่ดินติดกับที่ดินมัสยิดฯเป็นผู้อุทิศ (วากั๊ฟ) ที่ดินให้มัสยิดฯ อีก ๑ แปลง เนื้อที่ดิน ๑ ไร่ ๐๖ ตารางวา และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นชื่อมัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์

ณ.สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๙โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๒๕๕๑ เลขที่ดิน ๒๑๓ ตำบลสามวาตะวันตก อำเภอคลองสามวากรุงเทพมหานคร มัสยิดฯ จึงมีโฉนดที่ดิน ๒ แปลงรวมกันแล้วมีเนื้อที่ดินบริเวณของมัสยิดจำนวน ๓ ไร่

สำหรับรายชื่ออีหม่าม คอเต็บ บิหลั่น  และระยะเวลาการดำรงตำแหน่งต่างๆ

ของมัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ (สามวา) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

ลำดับที่ ๑ อัลมัรฮูมตวนฮัจยีบากา ดำรงตำแหน่งอีหม่ามประจำมัสยิดประมาณการปี

พ.ศ. ๒๔๒๐ –๒๔๓๕ รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอีหม่าม ๑๕ ปี (ส่วนตำแหน่งคอเต็บ

บิหลั่น ไม่ปรากฏหลักฐานข้อมูลว่าบุคคลท่านใดเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง )

ลำดับที่ ๒ อัลมัรฮูมตวนฮัจยีโก๊ะ ดำรงตำแหน่งอีหม่ามประจำมัสยิดประมาณการ ปี

พ.ศ. ๒๔๓๕ – ๒๔๔๕ รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอีหม่าม ๑๐ ปี (ส่วนตำแหน่งคอเต็บ

บิหลั่น ไม่ปรากฏหลักฐานข้อมูลว่าบุคคลท่านใดเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง )

ลำดับที่ ๓ อัลมัรฮูมตวนฮัจยีเราะฮ์มาน หวังโซ๊ะ ดำรงตำแหน่งอีหม่ามประจำมัสยิดประมาณการปี พ.ศ. ๒๔๔๕-๒๔๗๕รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอีหม่าม ๓๐ ปี (ส่วนตำแหน่งคอเต็บ บิหลั่นไม่ปรากฏหลักฐานข้อมูลว่าบุคคลท่านใดเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง )

ลำดับที่ ๔ อัลมัรฮูมตวนฮัจยีสาเมาะฮ์  (เมาะฮ์) กองเป็ง ดำรงตำแหน่งอีหม่ามประจำมัสยิดประมาณการ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๙๒ รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอีหม่าม ๑๗ ปี โดยมีอัลมัรฮูมตวนฮัจยีมุสตอฟา หนุ่มสุขดำรงตำแหน่งคอเต็บประจำมัสยิด และอัลมัรฮูมฮัจยีเด๊ะ สันประเสริฐดำรงตำแหน่งบิหลั่นประจำมัสยิด

เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๐ อีหม่ามอัลมัรฮูมตวนฮัจยีสาเมาะฮ์ กองเป็ง คณะกรรมการมัสยิดและพี่น้องมุสลิมซึ่งเป็นสัปปุรุษมีมติเห็นชอบร่วมกันว่าสมควรต้องขยายมัสยิดเพื่อรองรับจำนวนประชากรของพี่น้องมุสลิมที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคไม้เพื่อสร้างมัสยิดแทนหลังเก่าโดยสร้างเป็นอาคารมัสยิดหลังไม้ทรงปั้นหยาขึ้นใหม่ความยาวประมาณ ๑๓วา ๒ ศอกความกว้างประมาณ ๘ วา ต่อมาได้มีการสร้างขยายมัสยิดเพิ่มเติมอีกครั้งประมาณปีพ.ศ. ๒๕๐๓มัสยิดจึงได้ขอขึ้นทะเบียนมัสยิดครั้งแรกที่ศาลากลางจังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคมพ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งมีสถานที่ตั้งมัสยิดอยู่ที่ทะเบียนเลขที่ ๑๒ มัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ คลองสามวาตะวันตก หมู่ ๒ จังหวัดพระนคร

ลำดับที่ ๕ อัลมัรฮูมตวนฮัจยีมุสตอฟา หนุ่มสุข ดำรงตำแหน่งอีหม่ามประจำมัสยิดประมาณการปี พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๔๘รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ๕๕ ปี โดยมีอัลมัรฮูมฮัจยีเด๊ะ สันประเสริฐดำรงตำแหน่งคอเต็บประจำมัสยิด และอัลมัรฮูมฮัจยีมัด ตงสาลีดำรงตำแหน่งบิหลั่นประจำมัสยิด เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๐ อัลมัรฮูมฮัจยีเด๊ะ สันประเสริฐ ซึ่งเป็นคอเต็บเสียชีวิต และต่อมาอัลมัรฮูมมัด ตงสาลี บิหลั่น ได้เสียชีวิตลงจึงได้มีการคัดเลือกคอเต็บ บิหลั่นแทนคนเก่าที่เสียชีวิต ต่อมาฮัจยีฮานาฟี หวังพิทักษ์ได้รับการคัดเลือกขึ้นดำรงตำแหน่งคอเต็บประจำมัสยิดฯ และฮัจยีประเสริฐ อีมานนท์(เดิมกาซัม) ได้รับการคัดเลือกขึ้นดำรงตำแหน่งบิหลั่นประจำมัสยิด อัลมัรฮูมตวนฮัจยีมุสตอฟาหนุ่มสุข คงดำรงตำแหน่งอีหม่ามตามเดิม จนกระทั้งท่านได้เสียชีวิตเมื่อวันที่  ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕0 หลังจากได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘  รวมแล้วมัสยิดหลังไม้ดังกล่าวมีอายุรวมประมาณ ๑๓๐ ปี [2]

(จากข้อมูลดังกล่าวมาข้างต้นได้รับคำบอกเล่าจาก ฮัจยีผู้ใหญ่ตอเล็บ กองเป็ง

ฮัจยีวาฮับ นาคสุทธิ

ข้อมูลดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนจากข้อมูลที่ปรากฏบนจารึกของมัสยิดฯ

เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ได้จากคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อนและมิไดปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือหรือ

เอกสารใดๆ ยืนยันชัดเจน )

ลำดับที่ ๖ ผศ.ดร.ฮัจยีอับดุลเลาะ หนุ่มสุข

ซึ่งเป็นบุตรชายของอัลมัรฮูมตวนฮัจยีมุสตอฟา หนุ่มสุข ได้รับการคัดเลือกขึ้นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอีหม่ามประจำมัสยิด เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๘โดยมีฮัจยีฮานาฟี หวังพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งคอเต็บประจำมัสยิด และฮัจยีประเสริฐ อีมานนท์(กาซัม) ดำรงตำแหน่งบิหลั่นประจำมัสยิด ต่อมาเมื่อฮัจยีประเสริฐ อีมานนท์ (กาซัม)ได้เสียชีวิตลง นายชวนะ ขุนทองเทพได้รับการคัดเลือกขึ้นดำรงตำแหน่งบิหลั่นประจำมัสยิดแทนบิหลั่นคนเก่าที่เสียชีวิตไป

มัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ (สามวา)ได้ถูกโอนย้ายแบ่งเขตการปกครองตามประกาศกระทรวงมหาดไทยให้ขยายเขตการปกครองรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นโดยให้เพิ่มเติมเขตคลองสามวาขึ้นใหม่ซึ่งได้แยกตัวมาจากเขตมีนบุรี พ.ศ. ๒๕๔๐มีเนื้อที่รับผิดชอบรวม ๖๙,๑๗๘.๗๕ ไร่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ประชาชนในพื้นที่มีอาชึพทำนาข้าว ไร่หญ้า บ่อเลี้ยงปลา มัสยิดดารุ๊ลอีบาด๊ะห์ สามวาจึงถูกแบ่งเขตการปกครองโดยขึ้นตรงต่อสำนักงานเขตคลองสามวาจนถึงปัจจุบัน  [3]
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้