การดะอ์วะฮ์อิสลามในบริบทสังคมไทย (ตอนที่4)

Last updated: 17 ก.ย. 2562  |  1443 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การดะอ์วะฮ์อิสลามในบริบทสังคมไทย (ตอนที่4)

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ   หนุ่มสุข

รองประธานกรรมการอิสลาม กรุงเทพมหานคร


การดะอ์วะฮ์อิสลามในบริบทสังคมไทย
เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมอิสลามนานาชาติที่วิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปัตตานีในหัวข้อ" คุณค่าของอิสลามในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง: หลักการกับการนำไปใช้” ชื่อภาษาอังกฤษว่า ISLAMIC VALUES IN A CHANGING WORLD 2015 และชื่อภาษาอาหรับว่า   (القيم الاسلامية في عالم متغير: التأصيل والتطبيقات  )     มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นนักวิชาการจากประเทศต่างๆทั่วโลกและมีบทความที่เสนอในที่ประชุมมากกว่า 50 ชิ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หนึ่งในนั้นเป็นบทความที่ผมเสนอในหัวข้อ " ทางสายกลางทางจริยธรรม เปรียบเทียบระหว่างอิสลามกับพุทธศาสนา " และได้รับเกียรติให้เป็นองค์ปาถก (Keynote Speaker)ในวันสุดท้ายของการประชุมคือวันที่ 25 มีนาคม 2558
เนื้อหาของบทความซึ่งเขียนเป็นภาษาอาหรับโดยสรุปคือ

1)  ความเป็นสายกลางทางจริยธรรมของอิสลามมีลักษณะเฉพาะเช่น
ก. มีความเป็นสากล عالمية    หมายถึงความเสมอภาคของทุกคนที่ต้องปฏิบัติหรือต้องละเว้นเหมือนๆกัน ไม่มีการแบ่งประเภทหรือแบ่งสถาณภาพทางชนชั้นในสังคมแต่อย่างได

ข. มีความครอบคลุมทุกมิติของการดำเนินชีวิต      شمولية  หมายถึงครอบคลุมชีวิตของมนุษย์ทุกด้าน เช่นด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสติปัญญา ด้านความรู้สึก ด้านชีวิตส่วนตัว และด้านชีวิตทางสังคม เป็นต้น หลักจริยธรรมอิสลามมีทั้งที่เกี่ยวข้องกับปัจเจกบุคคล เกี่ยวข้องกับครอบครัว เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อม  เกี่ยวข้องกับสัตว์  และเกี่ยวข้องกับจักรวาลและชีวิต


ค. มีความสอดคล้องกับธรรมชาติและความเป็นจริงของชีวิต واقعية       หมายถึงมีความเหมาะสมและกลมกลืนกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกสร้างให้มีองค์ประกอบของร่างกายและจิตวิญญาณ องค์ประกอบของปัญญาและกิเลส  มีสัญชาติญาณของสัตว์(ซาตาน)และของมะลาอิกะฮ์(เทพ)ในขณะเดียวกัน ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงไม่ห้ามการหาความสุขสำราญจากสิ่งดีๆ การครอบครองทรัพย์สิน การหาความสุขจากสตรีเพศ(ภรรยา) และการแก้แค้น(เอาคืน)เพื่อผดุงความยุติธรรมในสังคม นอกเหนือจากนั้นแล้วหลักจริยธรรมอิสลามยังคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำทางธรรมชาติและการทำงานของแต่ละคนอีกด้วย


ง. มีความสมดุลระหว่างสองด้านที่ตรงข้ามกันหรือแตกต่างกัน توازنية      
เช่นระหว่างวัตถุกับจิตวิญญาณ ระหว่างร่างกายกับจิตใจ ระหว่างสิทธิกับหน้าที่ ระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตทางสังคม ระหว่างโลกนี้กับโลกหน้า และระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริงเป็นต้น
2)  ความเป็นสายกลางในพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนา มีคำสอนเป็นกลางและข้อปฏิบัติก็เป็นสายกลางเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทาเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป ผู้ปฏิบัติจะไปสู่จุดหมายแห่งความมีชีวิตที่ดีงามได้ก็ด้วยการปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์ 8  ซึ่งประกอบไปด้วย
1. สัมมาทิฎฐิ (เห็นชอบ) คือเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เห็นว่าสวรรค์นรกมีจริง เป็นต้น
2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) คือการนึกคิดในสิ่งที่ถูกต้อง คิดออกจากความยึดติดในกามารมณ์ คิดที่จะปราศจากโลภ ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่นและไม่เบียดเบียนผู้อื่น
3. สัมมาวาจา (วาจาชอบ) ได้แก่การพูดด้วยถ้อยคำที่ไม่มีโทษหรือคำสุภาพ พูดคำจริง พูดคำสัตย์ ละเว้นการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดให้แตกความสามัคคี
4. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) ได้แก่การกระทำที่ไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งตนเองและผู้อื่น เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) หมายถึง การเลี้ยงชีพด้วยการประกอบอาชีพสุจริตไม่ประกอบอาชีพทุจริต อาชีพที่สร้างความเดือดร้อนความรำคาญแก่ตนเองและผู้อื่น เช่น ค้าอาวุธ ค้าขายยาเสพติด ค้ามนุษย์ เป็นต้น
6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) หมายถึง การระดมความเพียรพยายามในการป้องกันไม่ให้เกิดความชั่วขึ้นในจิต ไม่ยึดติดในรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นให้หมดไป เพียรสร้างความดีขึ้นมาเพิ่ม แล้วรักษาความดีที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ตลอดไป
7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) หมายถึง การมีความระลึกรู้ตัวหรือระลึกรู้กาย ทำให้เกิดประโยชน์ คือสามารถควบคุมสภาพจิตใจให้อยู่ในภาวะที่ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยึดติดกับปัญหา อุปาทาน สามารถทำพฤติกรรมต่าง ๆ ด้วยเหตุผลและปัญญา
8. สัมมาสมาธิ (ตั้งใจมั่น) หมายถึง การมีจิตใจแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยปราศจากความใคร่ในกาม ความพยาบาทปองร้าย ความฟุ้งซ่านและความลังเลสงสัย ทำให้กิเลส ต่าง ๆ สงบไป

ข้อปฏิบัติที่เป็นสายกลางซึ่งมาจากกระบวนการธรรมชาติในพระพุทธศาสนาที่ เรียกว่าอริยมรรคนี้ สามารถนำไปสู่ข้อปฏิบัติที่เป็นหลักสำหรับฝึกอบรมกาย วาจา จิตใจและปัญญา ให้เจริญงอกงามจนบรรลุเป้าหมายสูงสุดคือ ความหลุดพ้น ที่เรียกว่า ไตรสิกขา
ไตรสิกขา
ไตรสิกขา (ไตร = 3 สิกขา = การศึกษา) หมายถึงการศึกษา 3 การฝึกอบรม 3 ตามข้อปฏิบัติเพื่อฝึก กาย วาจา ใจ ให้เจริญงอกงามเพื่อความหลุดพ้นตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่
1. ปัญญาสิกขา หมายถึง การจะทำอะไรจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเป็นพื้นฐานสำคัญก่อน ซึ่งจะต้องประกอบด้วย สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ
2. ศีลสิกขา หมายถึง การกระทำที่จะบรรลุเป้าหมาย จะต้องควบคุมพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความเข้าใจก่อน ซึ่งจะต้องประกอบด้วย สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
3. จิตสิกขา หมายถึง การกระทำใด ๆ จะต้องมีจิตใจที่มีพลังแข็งแรงแน่วแน่มั่นคงต่อเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งต้องประกอบด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
การปฏิบัติที่ยึดทางสายกลาง4 ในทางพุทธศาสนาจะต้องเป็นสายกลางระหว่างความสุดโต่งหรือเอียงสุด 2 ด้าน คือ
1. สุดโต่งในทางความคิดหรือความเอียงสุดทางด้านกาย ได้แก่การหมกมุ่นอยู่ในความสุขทางกามารมณ์ เสพสุขทางเนื้อหนังมังสา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค
2. สุดโต่งในทางปฏิบัติหรือความเอียงสุดทางด้านจิตใจ บางครั้งถึงกับทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ เพราะเชื่อว่ากิเลสจะหมดไปพร้อมกับเนื้อหนังมังสาทางพุทธศาสนาเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
พระพุทธเจ้าได้ทดลองปฏิบัติ แล้วพบว่าการเอียงสุดทางร่างกาย เห็นแก่ร่างกายอย่างเดียว เช่นการบำเพ็ญทุกรกิริยา ก็ไม่ถูกต้อง การเสพติดทางจิตใจ เช่น การหมกมุ่นทางกามารมณ์ ไม่เห็นความสำคัญแก่ร่างกาย จนกลายเป็นการทรมานร่างกายให้ลำบาก ก็ไม่ถูกต้อง การแก้ปัญหาในแนวทางที่ถูกต้องที่พระองค์พบว่าประสบความสำเร็จก็คือ การปฏิบัติทางสายกลางหรือที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา นั่นเอง        ( แหล่งอ้างอิง   วิถีธรรมวิถีไทย:อาจารย์อมร สังข์นาค, วิทยาลัยเทคนิคนครนายกหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานพระพุทธศาสนา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4:วิทย์ วิศทเวทย์ และ เสฐียรพงษ์ วรรณปก.อักษรเจริญทัศน์,2553.)

3)  เปรียบเทียบทางสายกลางระหว่างอิสลามกับพุทธศาสนา

จากการเปรียบเทียบทางสายกลางทางจริยธรรมระหว่างอิสลามกับพุทธศาสนาพบข้อเหมือนและข้อต่างดังนี้ :
1- อิสลามกับพุทธศาสนามีจุดร่วมกันในหลักจริยธรรมสากลอันหมายถึงหลักจริยธรรมทั่วไปที่วิญญูชนทั้งหลายพึงมี อาทิเช่น ความรัก ความกรุณาปรานี ความโอบอ้อมอารี ความอดทน ความซื่อสัตย์สุจริต ความยุติธรรม ความนอบน้อมถ่อมตน ความละอายต่อบาป ความกตัญญูรู้คุณ การให้อภัย การไม่โกหก ไม่ทุจริต ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ตระหนี่ ไม่มัวเมาในอบายมุก ไม่ละเมิดประเวณี ไม่ลักขโมย ไม่อิจฉาริษยา ไม่ทำร้ายผู้อื่นเป็นต้น หลักจริยธรรมเหล่านี้มีอยู่ในทุกศาสนา และมีอยู่ก่อนที่ท่านนบีมุฮัมมัดจะประกาศอิสลาม ด้วยเหตุนี้ท่านนบีจึงกล่าวว่า
إنما بعثتُ لأ تمّمَ مَكارمَ الأخلاقِ     แปลว่า ฉันถูกส่งมาเพื่อให้จริยธรรมทั้งหลายมีความสมบูรณ์ ( อะฮ์หมัด หมายเลข 8939 อัลบานีย์ระบุว่าเป็นฮะดีษเศาะเฮี๊ยะห์ ดู ซิลซิละฮ์เศาะฮีฮะฮ์ 1/75) หมายความว่าจริยธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในสามัญสำนึกของมนุษย์และในคำสอนของศาสนาต่างๆ แต่จริยธรรมเหล่านั้นยังมีข้อบกพร่อง ท่านนบีมุฮัมมัดได้มาเติมเต็มจริยธรรมต่างๆเพื่อให้มีความสมบูรณ์ไร้ความบกพร่องด้วยอิสลาม

2- อิสลามกับพุทธศาสนามีข้อแตกต่างในหลักทางสายกลางในหลายประเด็นดังนี้

ก.     ประเด็นที่มาของคำสอนกล่าวคือ คำสอนของอิสลามมาจากเบื้องบน มาจากพระผู้เป็นเจ้าคืออัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งและรู้ยิ่ง ในขณะที่คำสอนในพุทธศาสนามาจากการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสมพุทธเจ้า

ข.     ประเด็นความเป็นสากล عالميةกล่าวคือ หลักจริยธรรมในอิสลามไม่มีการแบ่งประเภทของผู้ปฏิบัติ ในขณะทีในพระพุทธศาสนาแบ่งผู้ปฏิบัติออกเป็นนักบวชเป็นพระภิกษุและฆราวาสที่ไม่ใช่นักบวช บุคคลในสองประเภทมีวัตรปฏิบัติทางจริยธรรมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ค.     ประเด็นความครอบคลุม شمولية  กล่าวคือหลักจริยธรรมอิสลามครอบคลุมทุกมิติของการดำเนินชีวิต ทั้งมิติทางกายภาพและจิตภาพ มิติทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ทางการเมืองการปกครอง ทางสุขภาวะ และทางการศึกษา ในขณะที่พุทธศาสนาเน้นเรื่องของจิตภาพ เน้นคำสอนเรื่องอัตตาและอนัตตา( การมีตัวตนและไม่มีตัวตน)เพื่อให้มนุษย์พ้นจากทุกข์

ง.      ประเด็นความสอดคล้องกับธรรมชาติและความเป็นจริง واقعية  กล่าวคือหลักจริยธรรมอิสลามให้ความสำคัญกับธรรมชาติและความเป็นจริงของมนุษย์ มนุษย์สามารถบรรลุความดีได้โดยไม่จำเป็นต้องออกจากกรอปของธรรมชาติและความเป็นจริง ในขณะที่พระพุทธศาสนาเน้นสอนเรื่องการดับทุกข์  ธรรมชาติใดใดที่เป็นสาเหตุของทุกข์และเป็นอุปสรรคต่อการดับทุกข์จึงถูกปฏิเสธ

จ.      ประเด็นความสมดุล توازنية  กล่าวคือหลักจริยธรรมอิสลามให้ความสมดุลระหว่าง ด้านต่างๆที่ตรงข้ามกันหรือแตกต่างกันเช่นด้านวัตถุกับด้านจิตวิญญาณ ด้านร่างกายกับจิตใจ ด้านชีวิตส่วนตัวกับชีวิตทางสังคม  ด้านศาสนากับด้านทางโลก ด้านสิทธิและหน้าที่ และด้านโลกนี้และโลกหน้าเป็นต้น  ในขณะที่พระพุทธศาสนามีคำสอนหลักทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา ที่แตกต่างกันออกไปดังรายละเอียดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

อย่างไรก็ตามสามารถพูดได้รวมๆว่าทุกศาสนาสอนให้มนุษย์ทุกคนเป็นคนดี แต่ทุกศาสนาสอนเรื่องความดีที่แตกต่างกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องศาสนาของพี่น้องที่อยู่ในสังคมเดียวกันจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ สมควรได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรและจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างกันอันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติและสมานฉันท์ต่อไป

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้