บทบาทของมัสยิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

Last updated: 16 ก.ย. 2562  |  5652 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บทบาทของมัสยิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

บทบาทของมัสยิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร. อับดุลเลาะ หนุ่มสุข*

 

บทนำ

มัสยิดเป็นองค์กรที่สำคัญยิ่งในอิสลาม เป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์และพัฒนามุสลิมให้เป็นมุอ์มินที่สมบูรณ์ มัสยิดตั่งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนมุสลิม และเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรือง และความเสื่อมถอยของชุมชนนั้นๆ ได้อย่างดี การให้ความสำคัญกับมัสยิดในฐานะองค์กรพัฒนาชุมชน นับเป็นประเด็นร่วมสมัย และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง บทความนี้จึงขอมีส่วนร่วมในการให้ความกระจ่างต่อประเด็นดังกล่าว เพียงหวังว่า ชุมชนมุสลิมในปัจจุบันจะได้หันมาให้ความสำคัญกับองค์กรมัสยิดไม่ใช่ในฐานะแค่เพียงเป็นสถานที่ละหมาดเท่านั้น แต่ในฐานะขององค์กรที่จะต้องมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆตามศาสนบัญญัติอีกด้วย

 

นิยามมัสยิดในอิสลาม

ก. นิยามตามหลักภาษา

คำว่ามัสยิด  مَسْجِد     เป็นภาษาอาหรับ มาจากคำว่า    سُجُود   ที่แปลว่าการก้มกราบ คำว่ามัสยิดเป็น      اسْم مَكاَن    ชื่อสถานที่ แปลว่าสถานที่ก้มกราบ หรือสถานที่สุญูด   ตามหลักภาษาอาหรับ อนุญาตให้อ่านสระฟัตฮะฮฺที่อักษรญีมได้ คืออ่านว่า   مَسْجَد     มัสยัด    แต่ไม่ค่อยได้ยินการอ่านในลักษณะดังกล่าว   คำพหูพจน์ของคำนี้คือ  مَساَجِد      มะซายิด  ( ดูพจนานุกรม مُخْتاَرُ الصِّحاَح    )

 

ข.นิยามตามหลักศาสนา

มัสยิดตามหลักศาสนามี 2 ความหมาย 

1)      ความหมายทั่วไป คือสถานที่สำหรับก้มกราบอัลลอฮ์

 มัสยิดในความหมายนี้ครอบคลุมทุกสถานที่ที่ศาสนาอนุญาตให้ทำการก้มกราบอัลลอฮ์ ดังปรากฏในฮาดีษที่ว่า

 
* อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรรมการอิสลามกรุงเทพมหานครฯ และอิหม่ามมัสยิดดารุ้ลอิบาดะฮ์ เขตคลองสามวา

 

 

" ... وَجُعِلَتْ لِي الأَرْضُ مَسْجِداً وَ طَهُوْراً، فَأَيُّماَ رَجُلٍ مِنْ أُمَّتِيْ أَدْرَكَتْهُ الصَّلاَةُ فَلْيُصَلِّ "

 

ความว่า:  และ(อัลลอฮ์) ได้ให้แผ่นดินเป็นมัสยิดและเป็นที่สะอาดแก่ฉัน(มุฮัมมัด) ดังนั้นใครก็ตาม จากอุมมะฮฺของฉันทันละหมาด(ณ ที่ใด) ก็ให้เขาละหมาด(ณ ที่นั้น)

(รายงานโดยบุคคอรีย์ หมายเลข  438)

จากฮะดีษบทนี้ชี้ว่าทุกสถานที่สามารถเป็นมัสยิดได้ หมายถึงใช้สำหรับเป็นที่ละหมาดได้ ยกเว้นบางสถานที่ที่ระบุไว้ในบางฮะดีษ เช่นฮะดีษที่กล่าวว่า:

 

" الأَرْضُ كُلُّهاَ مَسْجِدٌ إلاّ الْمَقْبَرَة وَالْحَماَّم "

 

ความว่า:  แผ่นดินทั้งหมดนั้นเป็นมัสยิด ยกเว้นสถานที่ฝังศพ (กุโบร) และห้องน้ำ

(รายงานโดยอะบูดาวูด หมายเลข 492 และอัตติรมีซีย์ หมายเลข317)

2 .)  ความหมายเฉพาะ คือ สถานที่ที่จัดใว้สำหรับการละหมาด และกิจกรรมอื่นๆ

  มัสยิดในความหมายนี้จำกัดเฉพาะสถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการละหมาดและการประกอบศาสนกิจอื่นๆ ด้วย เรียกมัสยิดในความหมายนี้ว่าเป็นบ้านของอัลลอฮ์ก็ได้

ค. นิยามตามหลักกฎหมาย

มัสยิดตามที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 มาตรา4 มีดังนี้:   มัสยิด หมายความว่า สถานที่ซึ่งมุสลิมใช้ประกอบศาสนกิจโดยจะต้องมีการละหมาดวันศุกร์เป็นปกติ และเป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลาม

             มัสยิดตามความหมายนี้มีสาระสำคัญอยู่2 ประการ คือ

 1.) เป็นสถานที่ที่มีการละหมาดวันศุกร์เป็นปกติ ซึ่งหมายความว่าเป็นมัสยิดที่อยู่ในชุมชน มีสัปปุรุษจำนวนมากพอสมควรสังกัด

2.) เป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลาม ซึ่งหมายความว่าเป็นมัสยิดที่มีกิจกรรมการเรียนการสอนศาสนาอิสลามให้กับปวงสัปปุรุษ

  มัสยิดในความหมายดังกล่าวคือมัสยิดในสังคมมุสลิมไทยที่ผู้เขียนหมายถึงในบทความนี้ เนื่องจากมีลักษณะเฉพาะหลายประการเช่น:

      1.)   เป็นองค์กรสาธารณะ

2 )   มีฐานะเป็นนิติบุคคล (มาตรา13)

3 )   มีคณะกรรมการประจำมัสยิด ได้รับการคัดเลือกจากปวงสัปปุรุษประจำมัสยิด (มาตรา30วรรค2)

4)      มีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติอย่างชัดเจน 12 ข้อ (มาตรา35)

 

สำหรับมัสยิดในความหมายที่กว้างออกไปเช่น ศาลาละหมาด  บาไลเซาะฮฺ  หรือมุศ่อลลา หรือศูนย์ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไป อาจจะมีข้อจำกัดบางประการในแง่ของกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถแสดงบทบาทของมัสยิดไดอย่างเด่นชัด

มัสยิดในอัลกุรอาน

    คำว่ามัสยิด         مَسْجِد     มีปรากฏในอัลกุรอานทั้งหมด 28  ครั้ง ปรากฏในรูปเอกพจน์   22 ครั้ง  และในรูปพหูพจน์    6   ครั้ง  ในจำนวนนี้มีคำว่า อัลมัสยิดอัลฮะรอม  (الْمَسْجِد الْحَراَم)   15 ครั้ง  และมีคำว่า อัลมัสยิดอัลอักซอ(المَسْجِد الأَقْصَى)   1 ครั้ง  นอกนั้นเป็นการระบุถึงมัสยิดโดยทั่วไป ซึ่งบางครั้งหมายถึงมัสยิดหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น  มัสยิดกุบาอ์(مَسْجِد قُباَء)ในอายะฮิที่ 108 ของซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ       (لَمَسْجِدُ أُسِّسَ عَلَى التَّقْوَى)    และมัสยิดฎิรอร์(مَسْجِد ضِراَر)ของพวกมุนาฟิกีน ในอายะฮฺที่ 107 ของซูเราะฮฺเดียวกัน(وَالَّذِيْنَ اتَّخَذُوْا مَسْجِداً ضِراَراً)

สำหรับสาระสำคัญที่อัลกุรอานได้นำเสนอเกี่ยวกับมัสยิดนั้นพอสรุปได้เป็น 3 หัวข้อหลัก คือ:

1.)    หลักการและเหตุผล

 อัลกุรอานได้เสนอว่ามัสยิดนั้นจะต้องสถาปนาบนรากฐานของการตักวาเท่านั้น ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า:

{لَّمَسْجِدٌ أُسِّسَ عَلَى التَّقْوَى مِنْ أَوَّلِ يَوْمٍ أَحَقُّ أَن تَقُومَ فِيهِ فِيهِ  }

“ แน่นอนมัสยิดที่ถูกก่อสร้างขึ้นบนความยำเกรงตั้งแต่วันแรกนั้น สมควรอย่างยิ่งที่เจ้า (มุฮัมมัด) จะเข้าไปยืนละหมาดในนั้น”         (อัตเตาบะฮฺ 108)

     ดังนั้นการก่อสร้างมัสยิดบนรากฐานอื่นจากการตักวา จึงถือว่าผิดหลักการและเหตุผล

      2.)   วัตถุประสงค์

       อัลกุรอานได้นำเสนอว่าจุดประสงค์ของมัสยิดนั้นคือการให้เอกภาพต่ออัลลอฮ์ในการเคารพภักดี และปฏิเสธการตั้งภาคีใดๆต่อพระองค์ ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า:

{ وَأَنَّ الْمَسَاجِدَ لِلَّهِ فَلَا تَدْعُوا مَعَ اللَّهِ أَحَدًا }

 

“และแท้จริงบรรดามัสยิดนั้นเป็นของอัลลอฮ์ ดังนั้นพวกเจ้าอย่าวิงวอนขอผู้ใดเคียงคู่อัลลอฮ์”  (อิลญิน  18)

 

คำว่า: เป็นของอัลลอฮ์ หมายถึง การให้เอกภาพต่ออัลลอฮ์ (เตาฮีต) และคำว่า อย่าวิงวอน หมายถึง การปฏิเสธการตั้งภาคี (ชิรก์)

          3.)    การดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ 

     อัลกุรอานได้นำเสนอว่าการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นจะต้องผ่านกระบวนการสร้างสรรค์และการพัฒนา      عِماَرَة     ทั้งด้านกายภาพ และจิตภาพ ซึ่งอัลกุรอานได้ระบุคุณสมบัติของผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวไว้ในพระดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า:

 } إِنَّمَا يَعْمُرُ مَسَاجِدَ اللّهِ مَنْ آمَنَ بِاللّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَأَقَامَ الصَّلاَةَ وَآتَى الزَّكَاةَ وَلَمْ يَخْشَ إِلاَّ اللّهَ فَعَسَى أُوْلَئِكَ أَن يَكُونُواْ مِنَ الْمُهْتَدِينَ {

“แท้จริงผู้ที่จะพัฒนาบรรดามัสยิดของอัลลอฮนั้นคือ:

1.)    ผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮฺ

2.)    และได้ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด

3.)    และได้ชำระซะกาต

4.)    และเขาไม่ยำเกรงผู้ใดนอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น

ดังนั้นจึงหวังได้ว่าชนเหล่านี้จะเป็นผู้อยู่ในหมู่ผู้รับคำแนะนำ      (อัตเตาบะฮฺ 18)

 

มัสยิดในประวัติศาสตร์อิสลาม

หากย้อนไปดูมัสยิดในประวัติศาสตร์ของอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยของท่านร่อซูลุลลอฮ์ และบรรดาเศาะฮาบะฮฺก็จะพบว่า มัสยิดในสมัยดังกล่าวไม่ได้มีบทบาทเฉพาะ เป็นเพียงสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจเท่านั้น แต่มัสยิดยังถูกใช้เป็นสถานที่ประชุมและปรึกษาหารือในกิจการต่างๆ สถานที่ตัดสินคดีความ สถานที่พักคนเดินทาง สถานพยาบาลผู้บาดเจ็บจากสงคราม สถานที่ประกอบพิธีสมรส สถานที่พบปะสังสรรค์ระหว่างญาติสนิทมิตรสหาย สถานที่บัญชาการรบ และสถานที่ศึกษา มัสยิดจึงเป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติศาสนกิจ ศูนย์กลางของการเรียนการสอน และศูนย์กลางของการบริหารและการปกครองในขณะเดียวกัน            บทบาทของมัสยิดดังกล่าวได้มีอย่างต่อเนื่องในยุคสมัยของเคาะลีฟะฮฺทั้ง 4  และยุคสมัยต่อๆมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทในด้านการศึกษา มัสยิดหลายแห่งได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เช่น มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ในอิยิปต์  มหาวิทยาลัย อัซซัยตูนะฮฺ ในตูนิเซีย และมหาวิทยาลัยอัลเกาะรอวียีน ในโมร็อกโก เป็นต้น

   

บทบาทของมัสยิดในปัจจุบันต่อการพัฒนาชุมชน

เมื่อหันมาดูบทบาทของมัสยิดในปัจจุบัน พบว่ามีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการที่สามารถทำให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนได้ เช่น ปัจจัยทางด้านกฎหมายที่กำหนดให้มัสยิดเป็นนิติบุคคล ปัจจัยทางด้านบุคลากรในชุมชน และคณะกรรมการมัสยิด ที่มีวุฒิการศึกษาสูงขึ้น ปัจจัยด้านข้อมูลข่าวสารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้น  ในที่นี้ขอยกตัวอย่างบทบาทของมัสยิดที่สำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ดังนี้:

 

บทบาทในการส่งเสริมการศึกษา

            มัสยิดต้องมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาศาสนาทั้ง 2 ภาค คือภาคฟัรฏูอัยน์ และภาคฟัรฏูกิฟายะฮฺ ในส่วนของภาคฟัรฏูอัยน์นั้น ควรมุ่งเน้นการศึกษาภาษาอัลกุรอาน โดยเฉพาะในด้านการอ่านและการท่องจำ มัสยิดควรกำหนดมาตรฐานของเด็กมุสลิมในชุมชน เกี่ยวกับการอ่านและการท่องจำซูเราะฮฺต่างๆของอัลกุรอาน ว่าควรจะมีมาตรฐานแค่ไหน อย่างไร เช่นเดียวกับความรู้ศาสนาในภาคฟัรฏูอัยน์ ก็ควรจะกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่าควรจะต้องเรียนจบแค่ไหน อย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกในชุมชนมีเอกภาพทางด้านการศึกษาศาสนา   ในส่วนของภาคฟัรฏูกิฟายะฮฺนั้น มัสยิดควรมีแผนในการส่งเสริมเยาว์ชนในชุมชนให้ได้เรียนศาสนาในระดับสูงขึ้น ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ พร้อมทั้งให้โอกาสเยาว์ชนเหล่านั้น ในการแสดงความสามารถในรูปของการอ่านคุตบะฮฺ      การเป็นอิหม่ามนำละหมาด และการบรรยายศาสนธรรม เป็นต้น

            สำหรับการศึกษาภาคสามัญและวิชาชีพนั้น แม้ว่าคำนิยามมัสยิดใน พ.ร.บ. การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 จะไม่ได้ระบุไว้ แต่ก็ถือเป็นหน้าที่ของมัสยิดที่จะต้องเข้าไปดูแลส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนมีโอกาสศึกษาวิชาชีพ และวิชาสามัญเกินภาคบังคับ และควรเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามัสยิดให้มากขึ้น

นอกเหนือจากการส่งเสริมการศึกษาดังกล่าวซึ่งเป็นการศึกษาในระบบแล้ว มัสยิดจะต้องส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอีกด้วย ซึ่งการศึกษาทั้งสองระบบนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของชุมชนมุสลิมในปัจจุบัน เนื่องจากสัปปุรุษส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในวัยและสถานภาพที่จะศึกษาในระบบได้  ดังนั้นมัสยิดจึงต้องส่งเสริมให้มีการเรียนการสอน การอบรมในวาระต่างๆ ตามความเหมาะสม อาทิเช่น   การอบรมศาสนาประจำเดือน การอบรมเยาว์ชนประจำปี (ค่ายอบรมเยาว์ชนภาคฤดูร้อน) การอบรมมุอัลลัฟ(มุสลิมใหม่) การอบรมกลุ่มมุสลิมะฮฺแม่บ้าน    การอบรมกอรี    และการอบรมวิชาชีพต่างๆ เป็นต้น

            สื่อที่สำคัญอีกประการหนึ่งของมัสยิดที่จะต้องมีบทบาทในเรื่องนี้คือ สื่อคุตบะฮ์ โดยเฉพาะ คุตบะฮ์ที่จะต้องอ่านทุกวันศุกร์ เป็นหน้าที่ของมัสยิดที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงคุตบะฮฺวันศุกร์ให้เป็นคุตบะฮ์ที่มีคุณภาพ และมีชีวิตชีวา สามารถเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สังคมในชุมชนให้เป็นสังคมที่ดีได้

            สำหรับสถาบันหรือส่วนงานย่อยที่ชุมชนมัสยิดทุกชุมชนควรมี เพื่อภารกิจในการส่งเสริมการศึกษาของชุมชน ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด โรงเรียนสอนศาสนาภาคฟัรฏูอัยน์ ห้องสมุดประจำมัสยิด และลานกีฬา   ส่วนทั้งหมดนี้น่าจะเป็นมาตรฐานที่น่าพอใจสำหรับชุมชนทุกชุมชนที่มีมัสยิดเป็นศูนย์กลาง

บทบาทในการพัฒนาท้องถิ่น

            มัสยิดในปัจจุบันควรจะมีการประสานงานในเชิงรุกกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ อาทิเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อ.บ.ต.องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ อ.บ.จ. สำนักงานเขตหรือสำนักงานอำเภอ  สภาจังหวัด  และกรมการศาสนากระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อขอรับการสนับสนุนในกิจการต่างๆ ด้านส่งเสริมการศึกษา และนันทนาการ เช่นโครงการค่ายอบรมเยาว์ชนภาคฤดูร้อน โครงการอบรมแก้ไขปัญหายาเสพติด โครงการลานกีฬา และเพื่อสนับสนุนในด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น    ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำ และโทรศัพท์สาธารณะ เป็นต้น มัสยิดควรจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆของรัฐในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยเริ่มต้นที่มัสยิดเป็นตัวอย่าง  ทำให้บริเวณมัสยิดมีสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น สะอาด และเจริญหูเจริญตา  เป็นบริเวณปลอดบุหรี่ ปลอดอบายมุขและสิ่งมึนเมา และปลอดจากสิ่งต้องห้ามทั้งปวงตามศาสนบัญญัติ

            นอกเหนือจากการประสานงานและการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆแล้ว มัสยิดจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมือง นักการปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการชุมชน และกรรมการการศึกษาในท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อมัสยิดจะได้รับความร่วมมือจากบุคคลดังกล่าวในภารกิจต่างๆ ของการพัฒนาชุมชนต่อไป

บทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหาชุมชน

            ปัญหาของชุมชนมัสยิดอาจแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1.)    ปัญหาอาชญากรรม

2.)    ปัญหายาเสพติด และอบายมุขอื่นๆ

3.)    ปัญหาความแตกแยก และการทะเลาะวิวาท

ปัญหาเหล่านี้มัสยิดจะจ้องทีบทบาทโดยตรงในการป้องกันและในการแก้ไขทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว โดยใช้กระบวนการที่สำคัญดังนี้

1)   การให้การศึกษาและอบรมสั่งสอน

มัสยิดจะต้องให้การศึกษาและอบรมสั่งสอนแก่ปวงสัปปุรุษอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยเน้นการใช้สื่อที่สามารถเข้าถึงบุคคลได้ง่าย สื่อที่สำคัญคือ

ก.         คุตบะฮฺวันศุกร์

ควรเป็นคุตบะฮฺที่นำเสนอปัญหาของชุมชนมัสยิด และควรให้สัปปุรุษทุกคนได้ตระหนักถึงการรับผิดชอบร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของชุมชน เนื่องจากการลงโทษของอัลลอฮ์ในโลกดุนยาแก่คนที่ไม่ดีนั้นจะครอบคลุมคนดีด้วย มัสยิดควรแบ่งเขตชุมชนและมอบหมายให้กรรมการแต่ละคนมีหน้าที่สอดส่องดูแลในเขตที่รับผิดชอบ

ข.      เสียงตามสาย

มัสยิดควรมีเสียงตามสายเพื่ออะซานบอกเวลาละหมาด และเพื่อประชาสัมพันธ์กิจการต่างๆของมัสยิด นอกเหนือจากนั้นแล้ว มัสยิดควรใช้เสียงตามสายให้เกิดประโยชน์ในด้านการอบรมสั่งสอน การแนะนำและการตักเตือน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆในชุมชน การใช้เสียงตามสายควรคำนึงถึงความเหมาะสมในหลายๆด้าน เช่น  ช่วงระยะเวลาของการใช้ และความหลากหลายของชุมชนที่มีผู้นับถือศาสนาแตกต่างกัน เป็นต้น

ค.      การเยี่ยมเยียนเป็นรายบุคคล

การเยี่ยมเยียนสัปปุรุษที่มีปัญหาเป็นรายบุคคล หรือเรียกมาพูดคุยที่มัสยิด หรือที่บ้าน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะป้อมปรามและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ ดังนั้นอีหม่าม และคณะกรรมการมัสยิดจึงควรมีเวลาสำหรับภารกิจนี้

2)  การทำสัตยาบันร่วมกัน(บัยอะฮ์)

มัสยิดควรให้มีสัตยาบันร่วมกันระหว่างสัปปุรุษในชุมชนทั้งโดยวาจา และลายลักษณ์อักษร เรียกในภาษาอาหรับว่าการทำบัยอะฮฺ    (بَيْعَة)  รูปแบบของบัยอะฮฺนี้ก็คือการร่างคำบัยอะฮฺเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้สัปปุรุษทุกคนในชุมชนได้ลงลายมือ และกล่าวเป็นวาจาพร้อมๆกัน โดยมีอีหม่ามเป็นผู้นำกล่าว สำหรับหัวข้อของบัยอะฮฺควรประกอบด้วย สามส่วนคือ 1. เรื่องที่จะต้องปฏิบัติ 2. เรื่องที่จะต้องออกห่างและต่อต้าน    และ3. บทลงโทษสำหรับผู้ละเมิดบัยอะฮฺ   ทั้ง 3 หัวข้อนี้จะต้องครอบคลุมส่วนเฉพาะบุคคล และส่วนรวม   การทำบัยอะฮฺนี้มัสยิดจะต้องให้มีผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในแง่ของการลงโทษ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องปรามและแก้ไขปัญหาของชุมชน

      สำหรับปัญหาความแตกแยกและการทะเลาะวิวาทนั้น มัสยิดควรใช้วิธีการไกล่เกี่ลย และประนีประนอม แต่หากเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับศาสนา มัสยิดควรจะต้องมีจุดยืนที่แน่นอน และไม่ควรสนับสนุนให้มีการถกเถียงกันในปัญหาคิลาฟียะฮฺ อันจะนำไปสู่ความแตกแยกและความร้าวฉานในชุมชนได้

3)  การประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เช่น สถานีตำรวจนครบาล  สถานีตำรวจภูธร  เพื่อให้มาสอดส่องดูแล และจับกุมผู้กระทำความผิด ไปลงโทษตามกฎหมาย ผู้เขียนเชื่อว่าหากได้มีการประสานงานอย่างดีระหว่างมัสยิดกับสถานีตำรวจที่รับผิดชอบในพื้นที่ ปัญหาต่างๆของชุมชนมัสยิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดและอาชญากรรมก็จะลดลงได้

บทบาทในด้านสวัสดิการชุมชน

      มัสยิดในปัจจุบันควรจะมีบทบาทในด้านสวัสดิการชุมชน โดยการจัดตั้งกองทุนอย่างน้อย 2 กองทุน คือ

1.)    กองทุนการกุศลเพื่อสงเคราะห์ผู้ยากไร้        2)   กองทุนซะกาตเพื่อสวัสดิการชุมชน

กองทุนการกุศลเพื่อสงเคราะห์ผู้ยากไร้นั้นเป็นกองทุนจากการบริจาคทั่วๆไป ของผู้มีจิตศรัทธา เพื่อนำไปช่วยเหลือ และสงเคราะห์ผู้ยากไร้ในชุมชน เช่น ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ ทั้งอุทกภัย อัคคีภัย และภัยอื่นๆ   ผู้พิการและทุพลภาพ  เด็กกำพร้าและแม่หม้ายที่ขาดผู้ดูแลและช่วยเหลือ  หรือสงเคราะห์ในการจัดการศพที่ไร้ญาติและขาดแคลนทรัพย์เป็นต้น

สำหรับกองทุนซะกาตเพื่อสวัสดิการสังคมนั้น เป็นกองทุนที่ได้จากการจ่ายซะกาตของสัปปุรุษในชุมชนและที่อื่นๆ   กองทุนทำหน้าที่เป็นตัวกลางหรือเป็นตัวแทนเพื่อนำซะกาตไปมอบให้แก่ผู้มีสิทธิรับซะกาตตามศาสนบัญญัติที่อยู่ในชุมชน

อย่างไรก็ตามหากมัสยิดสามารถระดมเงินซะกาตจากผู้มีฐานะในชุมชนหรือที่อื่นๆได้ มัสยิดก็จะสามารถหยิบยื่นสวัสดิการให้กับชุมชนได้ ตัวอย่างเช่น สวัสดิการการศึกษา ซึ่งเป็นสวัสดิการที่สำคัญในปัจจุบัน มัสยิดสามารถที่จะมอบเงินซะกาตให้กับลูกหลานของสัปปุรุษในชุมชนที่เรียนดีแต่ขลาดแคลนให้มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ดังนั้นชุมชนก็จะมีนักเรียนทั้งภาคศาสนาและภาคสามัญได้เรียนต่อด้วยทุนซะกาตของมัสยิด บุคคลเหล่านี้เมื่อจบการศึกษาก็จะมีความรู้สึกผูกพันกับมัสยิด เขาจะรู้สึกว่ามัสยิดสร้างเขา  เขาก็จะต้องสร้างมัสยิดเพื่อเป็นการตอบแทน ระบบนี้ก็จะทำให้มัสยิดมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยอนุมัติจากอัลลอฮ์

บทส่งท้าย

                        มัสยิดในยุคปัจจุบันคงจะมิใช่เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นสถานที่เอนกประสงค์ที่กิจกรรมทุกอย่างมีเป้าหมายเพื่ออัลลอฮ์ เพื่อความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์

และเพื่อเชิดชูศาสนาของอัลลอฮ์   บทบาทของมัสยิดที่พึงประสงค์เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการมัสยิด ที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และพระประสงค์อันยิ่งใหญ่แห่งเอกองค์อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ขออัลลอฮ์ได้ทรงประธานทางนำและความสำเร็จแก่ผู้บริหารมัสยิดและแก่พี่น้องมุสลิมทุกคน อามีน


ประวัติบุคคล
 

ชื่อ  นายอับดุลเลาะ                                               ชื่อสกุล  หนุ่มสุข

เกิดวันที่  1  เดือน กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2496

ตำแหน่งปัจจุบัน  ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ระดับ 8

ประวัติการศึกษา

   พ.ศ.           วุฒิปริญญา                   สาขาวิชา                 สถานที่ศึกษา

s 2535     Ph.D (เกรียตินิยมอันดับหนึ่ง)         Creed        Islamic University of  Madina

                                                                                              Saudi Arabi                                                                                                    

s 2531        M.A. (เกรียตินิยม)                     Creed       Islamic University Of    Madina

                                                                Saudi Arabia

                                                                                                 

s 2527       B.A. (เกรียตินิยมอันดับหนึ่ง)    Islamic Call and Theology     Islamic University of Madina Saudi Arabia

 

ประวัติรับราชการ

วัน/เดือน/ปี                    ตำแหน่ง              ระดับ                                      สังกัด

พ.ศ. 2536                     อาจารย์                    5                                                ภาควิชาอิสลามศึกษา

 วิทยาลัยอิสลามศึกษา

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วิทยาเขตปัตตานี

พ.ศ. 2538                     อาจารย์                    6                      ภาควิชาอิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา

พ.ศ.5247-ปัจจุบัน    ผู้ช่วยศาสตราจารย์          8                                      ภาควิชาภาษาไทยและภาษา      ตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

หน้าที่รับผิดชอบปัจจุบัน

 -อาจารย์สอนภาษาอาหรับ ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

-อาจารย์พิเศษของบัณฑิตวิทยาลัย หลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิชาอิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

-อีหม่ามมัสยิดดารุ้ลอิบาดะฮ์เขตคลองสามวา

 

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

-  อิสลามศึกษา(อุศูลุดดีน)

-  ศาสนาเปรียบเทียบ

-  ภาษาอาหรับ

ผลงานทางวิชาการ
          วิจัย

            อับดุลเลาะ  หนุ่มสุข และคณะ. 2543. ความคลาดเคลื่อนของนักวิชาการไทยเกี่ยวกับประวัติและคำสอนของศาสดามูฮัมมัด  ศ็อลลอลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม. ตีพิมพ์ในหนังสืออนุสารณ์งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮศ. 1421  28-30 ตุลาคม 2543 ณ สวนอัมพร

          อับดุลเลาะ  หนุ่มสุข และคณะ. 2547 : ตัครีจตัวบทหะดีษในหนังสือคุณค่า อะมาล ของ เซคคุล หะดีษ เมาลานา มูฮัมหมัด ซะกะรียา  (60%)

อับดุลเลาะ  หนุ่มสุข : วัฒนธรรมการตั้งชื่อบุคคลเป็นภาษาอาหรับของมุสลิมไทย : กรณีศึกษาชุมชนมัสยิดดารุ้ลอิบาดะฮ์ เขตคลองสามวา (กำลังดำเนินการ)

 

            ตำรา

1)   Abdullah  Numsuk : Method of Imam Shawkani to Study Religion (ภาษาอาหรับ) พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2536 พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2537 Darul kitab wal kulam Riyhad Saudi Arabia.

2)    Abdullah Numsuk : Buddism : Its History, Belief and Relationship with Sufism (ภาษาอาหรับ)พิมพ์ครั้งที่ 1/2542 Adhwa ussalaf Riyhad Saudi Arabia.

 

ตำแหน่งหน้าที่ทางสังคมในปัจจุบัน

- กรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร(รองประธาน)

         - คณะผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร

           -  ประธานอนุกรรมการกองทุนซะกาต และการกุศลเพื่อสวัสดิการสังคม 

          - กรรมการสภาประสานความร่วมมือระหว่างมัสยิด

            - อิหม่ามมัสยิดดารุ้ลอิบาดะฮฺ   เขตคลองสามวา  และเป็นผู้อบรมศาสนธรรมแก่สัปปุรุษของมัสยิดดังกล่าว

             - คณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินกิจการกองทุนซะกาตในคณะกรรมการขับเคลื่อนสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

             - อนุกรรมาธิการจัดทำสรุปผลการสัมมนาผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม ในคณะกรรมการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายเเดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

             - อนุกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการบริหารกิจการฮาลาลในคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

 

งานบริการวิชาการอื่นๆในปัจจุบัน

-          เป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของมหาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหิดล

-          เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่สาขาปรัชญา

-          เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคุณภาพบทความวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี

-          เป็นกรรมการพิจารณาผลงานทางวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

-          เป็นกรรมการพิจารณาผลงานการขอตำแหน่งชำนาญการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

-      เป็นวิทยากรรายการโทรทัศน์มุสลิม

-      เป็นวิทยากรรายการวิทยุภาคมุสลิม     

-      เป็นวิทยากรบรรยายศาสนธรรมให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน

-      เป็นผู้เขียนบทความเผยแพร่ในวาระสารต่างๆของมุสลิม

-   เป็นคณะทำงานการจัดทำต้นฉบับหนังสือ  “King Phumibol : Strength of the land” เป็นภาษาอาหรับ โดยคณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักนายกรัฐมนตรี

-     เป็นผู้ตรวจทานความหมายอัล-กุรอานเป็นภาษาไทย โดยสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ

     - ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านมาตรฐานฮาลาลในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา

     - อนุกรรมาธิการติดตามและประเมินผลด้านการศึกษาและทรัพยากรณ์บุคคล ในคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมิณผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา

     - กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาสนับสนุนโครงการย่อย แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยระยะที่ 2 ปี 2551

     - ประธานกรรมการสอบไล่ภายนอกหลักสูตรศิลปะศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต

     - ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาอาหรับ เฉพาะคราวประชุมในคณะกรรมการปรับปรุงหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอาหรับ ราชบัณฑิตยสถาน

     - ผู้พิจารณาตรวจสอบคุณภาพโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี

     - กรรมการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย

     - ผู้ทรงคุณวุฒิในโครงการเขียนตำราด้านสุขภาวะเรื่อง “กระบวนทัศน์อิสลามด้านสุขภาวะ” แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     - ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความทางวิชาการวารสารอัล-นูร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

     - กรรมการกำกับทิศทาง “แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยระยะที่ 2(พ.ศ.2549-2552)”

     - อนุกรรมการพิจารณาหลักสูตรศิลปะศาสตร์บัณฑิตสาขาวิชาอิสลามศึกษา วิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี    

 

ประวัติการดำรงตำแหน่งผู้บริหาร

-          หัวหน้าแผนกวิชาอิสลามศึกษา โปรแกรมภาษาอาหรับ(2537-2542) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

-          ผู้จัดการหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาอิสลามศึกษา(2543-2547)มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

-          หัวหน้าสาขาวิชาภาษาอาหรับ ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง     (2547-ปัจจุบัน)

ที่อยู่ปัจจุบัน

10 ม.9 ซ.นวลจันทร์ ถ.นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 1230

โทรศัพท์  

 บ้าน 02-9438586  

มือถือ  08-13311611

แฟ็กส์   02-5080247

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ   หนุ่มสุข
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้